Header Ads

แพทย์ รพ.วิมุต เผย ยิ่งเครียดยิ่งผมร่วง แนะรีบพบแพทย์-หาสาเหตุ ก่อนผมบางถาวร




เชื่อว่าหลายคนคงเคยรู้สึกว่าทำไมผมร่วงเยอะจัง แค่หวีเบา ๆ หรือสระผมก็หลุดติดมือมาเป็นกำ ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในกลุ่มคนวัยทำงานที่ต้องแบกรับทั้งภาระหน้าที่และความเครียดสะสมในแต่ละวัน เพราะจริง ๆ แล้ว ความเครียดเป็นหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้เส้นผมหลุดร่วงเร็วกว่าปกติและนำไปสู่ "ภาวะผมร่วง" ที่จะมีอาการผมร่วงอย่างต่อเนื่อง และหากปล่อยไว้นานเกินไป รากผมอาจเสียหายถาวรและไม่สามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ ส่งผลให้ผมน้อยลงอย่างเห็นได้ชัดจนเป็น "ภาวะผมบาง" ดังนั้นถ้าไม่อยากผมบางจนเสียความมั่นใจ วันนี้ พญ.กรผกา ขันติโกสุม แพทย์ผู้ชำนาญการด้านผิวหนัง ศูนย์ผิวหนังและความงาม รพ.วิมุต จะมาเล่าถึงสาเหตุที่ทำให้ผมร่วงมากผิดปกติและแชร์เทคนิคดูแลสุขภาพเส้นผมให้แข็งแรงขึ้น

ปัญหาใหญ่วัยทำงาน ยิ่งเครียด ผมยิ่งร่วง

หนึ่งในสาเหตุของปัญหาผมร่วงที่พบได้บ่อยและหลายคนมักมองข้าม คือ ความเครียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มคนวัยทำงานอายุระหว่าง 25-45 ปี ซึ่งเป็นช่วงที่ชีวิตเต็มไปด้วยแรงกดดันจากงานและหน้าที่รับผิดชอบ ส่งผลให้เกิดภาวะเครียดสะสม ในบางรายที่มีภาวะเครียดเรื้อรังหรือมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย อาจมีพฤติกรรมดึงผมตัวเองแบบไม่รู้ตัว หรือที่เราเรียกว่าโรคดึงผมตัวเอง (Trichotillomania) ซึ่งอาจทำให้ผมบางเร็วขึ้น

พญ.กรผกา ขันติโกสุม เล่าต่อว่า "นอกจากความเครียดยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ผมร่วงได้ เช่น ภาวะผมบางจากพันธุกรรม (Androgenetic Alopecia) เกิดจากความไวของรากผมต่อฮอร์โมน DHT (Dihydrotestosterone) การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น ผู้หญิงหลังคลอด วัยหมดประจำเดือน หรือการใช้ยาคุมกำเนิดและยารักษาสิว ส่วนอาหารการกินก็เกี่ยว ถ้ามีการอดอาหาร ขาดธาตุเหล็ก วิตามิน D วิตามิน B12 หรือโปรตีน ก็อาจทำให้ผมอ่อนแอและหลุดร่วงง่าย ในบางคนอาจมีพฤติกรรมทำร้ายเส้นผม เช่น นอนในขณะหัวชื้น หวีผมขณะผมเปียก มัดผมตึงเกินไป ใช้สารเคมี ไดร์หรือหนีบผมด้วยความร้อนสูงเป็นประจำ และยังมีโรคบางชนิดที่ทำให้ผมร่วงอย่างโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia Areata) และผื่นเซ็บเดิร์ม รวมทั้งผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางประเภท เช่น ยาเคมีบำบัดหรือยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นเดียวกับมลพิษทางอากาศ การสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ และการพักผ่อนไม่เพียงพอ ก็มีผลเสียต่อสุขภาพเส้นผมเช่นกัน"

เช็กด่วน! ผมร่วงแบบนี้พบแพทย์ทันที

หลายคนที่กังวลเรื่องผมร่วงมักสงสัยว่าผมร่วงเยอะแค่ไหนถึงต้องไปหาหมอ เพราะปกติเส้นผมก็ร่วงอยู่ทุกวัน โดยทั่วไปผมของเราจะร่วงประมาณ 100 เส้นต่อวัน หรือมากถึง 200 เส้นในวันที่สระผม แต่ถ้ามีอาการผมร่วงอย่างชัดเจน เช่น ผมติดหวีหรือหมอนเป็นจำนวนมาก หรือหล่นบนพื้นห้องน้ำมากผิดปกติ ก็ถือเป็นสัญญาณแรกที่ไม่ควรมองข้าม พญ.กรผกา ขันติโกสุม อธิบายว่า "เบื้องต้นสามารถเช็กความเสี่ยงได้ด้วยการใช้นิ้วมือสางผมเบา ๆ หากมีผมหลุดมากกว่า 2 เส้นหลายครั้ง ก็ควรเข้าไปรับคำปรึกษาจากแพทย์แต่เนิ่น ๆ ส่วนในกรณีที่มีอาการรุนแรง เช่น ผมร่วงเป็นหย่อม คลำเจอจุดหัวล้าน มีอาการคัน แสบ หนังศีรษะแดง มีสะเก็ดหรือหนองร่วมด้วย ผมร่วงรวดเร็วภายใน 2–4 สัปดาห์ มีบริเวณหัวล้านขยายกว้างขึ้นเรื่อย ๆ หรือมีอาการผิดปกติอื่นร่วมด้วย เช่น เหนื่อยง่าย น้ำหนักลด หรือประจำเดือนขาด ก็แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อรักษาทันที"

แนวทางการรักษาผมร่วง-บาง ในปัจจุบัน

ในปัจจุบัน การรักษาปัญหาผมร่วงและผมบางได้รับการพัฒนาไปอย่างมาก มีทั้งการรักษาด้วยยาและเทคโนโลยีใหม่ที่ให้ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพ เบื้องต้นแพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยา เช่น Minoxidil ซึ่งช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตบริเวณรากผม ใช้ได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง ส่วนอีกตัวคือ Finasteride ซึ่งเป็นยาลดระดับฮอร์โมน DHT ที่นิยมใช้ในผู้ชายเพื่อป้องกันผมร่วงจากพันธุกรรม หรืออาจรักษาด้วยวิธีการฉีดเกล็ดเลือดเข้มข้น (PRP) และการฉายแสงสีแดง (Low-level laser therapy) เพื่อกระตุ้นให้รากผมกลับมาแข็งแรงขึ้น "การใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมก็มีส่วนช่วยบ้าง แต่ต้องเลือกสินค้าที่มีมาตรฐานความปลอดภัยและสารประกอบสำคัญ เช่น แชมพูที่มี Ketoconazole ช่วยลดอาการอักเสบและต้าน DHT หรือผลิตภัณฑ์ที่มีปาล์มเลื่อย (Saw Palmetto), ไบโอติน, วิตามิน B และวิตามิน E ซึ่งช่วยบำรุงผมให้แข็งแรง อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ช่วยดูแลผมที่ยังมีอยู่เท่านั้น หากมีปัญหาผมร่วงรุนแรงหรือผมบางก็แนะนำให้ไปรักษากับแพทย์อย่างจริงจัง" พญ.กรผกา ขันติโกสุม อธิบาย

เทคโนโลยีปลูกผมที่ช่วยรักษาผมถาวร

หากเส้นผมบางลงจนเห็นได้ชัดและรากผมเสียหายถาวร แพทย์อาจแนะนำให้ปลูกผม โดยเทคโนโลยีที่นิยมในปัจจุบันคือ FUE (Follicular Unit Extraction)  ซึ่งใช้เครื่องมือขนาดเล็กย้ายรากผมจากท้ายทอยไปยังจุดที่มีปัญหา วิธีนี้แผลเล็ก ฟื้นตัวไว และดูเป็นธรรมชาติ ส่วน FUT (Follicular Unit Transplantation) แม้ได้รากผมจำนวนมากในครั้งเดียว แต่มีแผลใหญ่และพักฟื้นนานกว่า ปัจจุบันยังมีงานวิจัยด้านสเต็มเซลล์และ 3D Hair Bioprinting ที่หากสำเร็จอาจช่วยสร้างรากผมใหม่ขึ้นมาได้

"เข้าใจว่าวัยทำงานที่ยังต้องเจอผู้คนมาก ๆ อาจรู้สึกอายและไม่มั่นใจจากภาวะผมร่วงและผมบาง แต่คุณค่าของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับเส้นผมเพียงอย่างเดียว และภาวะนี้ก็สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้ โดยต้องเข้าใจอาการที่เกิดขึ้นและเริ่มปรับไลฟ์สไตล์ พักผ่อนให้พอ ออกกำลังกาย เน้นกินอาหารที่ช่วยบำรุงเส้นผม เช่น กล้วย ฝรั่ง ไข่แดง และอะโวคาโด รวมถึงผ่อนคลายลดความเครียดให้มาก ๆ ถ้าเกิดเริ่มมีอาการผมร่วงผิดปกติ ให้รีบมาปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะอาจเป็นสัญญาณภาวะผมร่วง ผมบาง และโรคอื่น ๆ จะได้ช่วยกันหาแนวทางรักษาที่เหมาะสมให้เรากลับมามั่นใจในตัวเองได้อีกครั้ง" พญ.กรผกา ขันติโกสุม กล่าวทิ้งท้าย

ผู้ที่สนใจปรึกษาแพทย์โรงพยาบาลวิมุต สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมและนัดหมายแพทย์ได้ที่ศูนย์ผิวหนังและความงาม ชั้น 9 โรงพยาบาลวิมุต เวลาทำการ 08:00 - 17:00 น. โทร. 02-079-0074 หรือดาวน์โหลด ViMUT Application เพื่อนัดหมายแพทย์ หรือใช้บริการปรึกษาหมอออนไลน์
####

เกี่ยวกับโรงพยาบาลวิมุต
โรงพยาบาลวิมุต โรงพยาบาลวิมุต พหลโยธิน ตั้งบนทำเลใจกลางย่านธุรกิจของกรุงเทพมหานคร บนพื้นที่ 4 ไร่ ริมถนนพหลโยธิน ใกล้สี่แยกสะพานควาย เป็นโรงพยาบาลขั้นตติยภูมิ (Tertiary Care) ขนาด 235 เตียง ในรูปแบบอาคารสูง 18 ชั้น ได้รับการรับรองมาตรฐานสถานพยาบาลระดับสากล Joint Commission International (JCI) เน้นให้บริการรักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือดหัวใจ สมอง เบาหวาน กระดูก ระบบทางเดินอาหาร และตับ รวมถึงกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)  นอกจากนี้ ยังมีบริการทางการแพทย์อื่น ๆ อาทิ ศูนย์สุขภาพผู้สูงอายุ (Geriatric center) เพื่อตอบโจทย์สังคมผู้สูงอายุ รวมถึงการดูแลพื้นฟูสภาวะหลังวิกฤต (Transitional Care) เพื่อฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยหลังจากรักษาเพื่อเตรียมตัวก่อนกลับบ้าน เรานำเสนอบริการในรูปแบบ One-stop Service ซึ่งครอบคลุมบริการดูแลสุขภาพถึงบ้าน (Health to Home) มอบความสะดวกสบายและทันสมัยผ่านการใช้แอปพลิเคชัน ViMUT สำหรับการตรวจสอบประวัติทางการแพทย์ส่วนบุคคล การจองนัดหมายแพทย์ด้วยตัวเอง การรับคำปรึกษาจากแพทย์แบบออนไลน์ (Tele Medicine Service) และบริการจัดส่งยาและวัคซีนถึงบ้าน (ViMUT Drug delivery)

สื่อมวลชนสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
ฝ่ายสื่อสารการตลาด โรงพยาบาลวิมุต :
นันฐณัฏ เลิศปิยะวัฒน์ (แน๊ต)          โทรศัพท์:  089 193 9395                อีเมล: nunthanut_l@vimut.com

วิวาลดี้ อินทิเกรเต็ด พับลิค รีเลชั่นส์

วีรวรรณ แซ่จ๋าว (เอ)                     โทรศัพท์: 092-593-6944                 อีเมล: veerawan.s@vivaldipr.com
ณิชา นับดี (กิ๊ฟ)                           โทรศัพท์: 080-579-7559                 อีเมล: nicha.nabdee@vivaldipr.com

Best regards,

NOPPARAT MALALUM (AUNN)
SENIOR MEDIA RELATIONS MANAGER | VIVALDI PUBLIC RELATIONS
 
MOBILE +66 93 824 0008 | OFFICE +662 612 2253  | FAX +662 612 2254
EMAIL : 
Nopparat.m@vivaldipr.com
WEBSITE FACEBOOK INSTAGRAM 

No comments

Powered by Blogger.